คลินิคโรค “น้ำเหลืองไม่ดี”
คลินิคโรค “น้ำเหลืองไม่ดี”
Clinic for Poor Lymph Disorder
สำนักการแพทย์ทางเลือก
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ความช่างสังเกตของบรรพบุรุษไทย เห็นเด็กบางคนโดนยุงกัด มดกัด แมลงต่อย จะบวมคัน พุพอง เปื่อยง่าย อักเสบไว แผล หายช้า เป็นหนอง ฝี มีน้ำเหลืองเยิ้ม พอหายมักทิ้งร่องรอยผื่นดาษ เรียกขานว่า น้ำเหลืองเสีย ส่วนในคนที่โตแล้ว บางคน มีแนวโน้มขาลาย ตัวลาย จากแผลเก่ารอยยุงกัดบ้าง บ้างเรียกว่า น้ำเหลืองไม่ดี เหล่านี้ จะถูกเข้าใจโดยแพทย์ทั่วๆไปว่า เป็น โรคภูมิแพ้ อันไม่เคยระบุต้นภูมิได้ หรืออาจคิดไปว่าเป็นเพราะ แพ้น้ำลายยุง เป็นต้น
ภาวะน้ำเหลืองไม่ดี Poor lymph disorder คือ ปรากฏการณ์ที่อวัยวะมีการอัดอั้น congestion ระบายน้ำเหลืองไม่ราบรื่น ที่เมื่อเรื้อรังก็จะอุดอู้ stasis ของเสียจะคั่งค้าง ไม่ถ่ายออกเทไป ทำให้ก่ออักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดมีการแสลงอาหาร จากผลิตภัณฑ์สัตว์ (เนื้อไข่นม) ปนการแทรกซ้อนที่ติดเชื้อตามผิวหนัง กลายเป็นโรคน้ำเหลืองเสีย Bad lymph sickness
โรคน้ำเหลืองไม่ดี มีอาการและอาการแสดงที่หลากหลายกว่าที่เราเคยรู้จักกันมา อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มโรค Superfamily ที่ครอบคลุมไปถึง เช่น โรคหลอดเลือดขอด โรคปวดเข่า(เสื่อม) โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังผื่นคัน โรคSLE โรครูมาตอยด์ โรคบวมไขมัน โรคอ้วน โรคภาวะที่ช่วงล่างใหญ่ผิดสัดส่วน•ต้นขาโต•น่องอวบ โรคภาวะบวมต่างๆที่พบได้ในโรคเก๊าต์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคมะเร็งและผลข้างเคียงจากมะเร็ง หรือจากการผ่าตัดรักษามะเร็ง เฉพาะกรณีหลังนี้ ประมาณว่า เรามีผู้ป่วยบวมไม่น้อยกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศไทย ที่เคยผ่านการผ่าตัดมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
ความเรื้อรังแห่งโรคทั้งหลายที่เมื่อเป็นมานานถึงระยะหนึ่งก็จะก่อสภาวะน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งจะขยายความรุนแรงของอาการ และเพิ่มการรุกลามของโรค อาการเมื่อยน่อง•เจ็บขา•ปวดเอวในคนวัยทำงาน (เบื่อขึ้นบันได เดินไม่ทน เหนื่อยไว) อาการ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว เจ็บไปทั้งตัว อาการเลือดลมไม่เดิน อาการลุกก็โอยนั่งก็โอย เดินเหินไม่คล่องทั้งในคนทั่วไปหรือ ในผู้สูงอายุ อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง เหล่านี้ ล้วนมีพื้นฐานร่วมบนภาวะน้ำเหลืองไม่ดี เราเคยให้การบำบัดรักษาผู้ป่วย มะเร็งระยะสุดท้ายที่ปวดทรมานต้องกินมอร์ฟีนวันละ ๕~๑๐ เม็ด เมื่อเริ่มบำบัดน้ำเหลือง สามารถทำให้มอร์ฟีนเป็น ศูนย์ เม็ดได้ตั้งแต่วันแรก เป็นต้น
พยาธิสภาพของระบบไหลเวียนน้ำเหลือง ถูกถอดรหัสจาก งานวิจัยสัณฐานวิทยาทั้งจุลทรรศน์แสง และจุลทรรศน์อิเลคตรอน ที่ค้นพบระบบก่อนน้ำเหลืองเป็น สถาปัตยกรรมรังผึ้ง Honeycomb Architecture (Ekataksin et al., 2000) กับเซลล์ต้นตอ หลอดน้ำเหลืองที่เรียก ลูกครึ่งเซลล์บุหลอดกล้าเส้นใย Endotheliofibroblast (Ekataksin et al., 2006) เป็นมูลเหตุให้เกิด นวัตกรรมการบำบัดรักษาโรคบวมน้ำเหลือง Lymphedema โดยวิธีภูษาบำบัด•ขันชะเนาะลดบวม Compression Therapy by Twisting Tourniquet Technique http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=516&Itemid=162 กอปรประสบการณ์บำบัดรักษาผู้ป่วยกว่า ๓,๗๐๐ คน ทั้งไทยและเทศ (๓๗ ชาติ) บน การศึกษาภาพแม่เหล็กกำธร MRI ทำให้ได้ข้อค้นพบที่สร้างความเข้าใจใหม่ และเกิดองค์ความรู้ใหม่ ยังให้เราแยกแยะได้ว่า โรคบวมน้ำเหลือง แบ่งได้เป็น ๒ อาณาจักร ดังนี้
อาณาจักรที่หนึ่ง คือ โรคบวมน้ำเหลืองตามแบบฉบับ (อาจเรียกว่า บวมระนาบตื้น Lymphedema superficialis) มองเห็นชัดว่ามีแขนขาบวมโต เป็นสภาวะที่หลอดน้ำเหลืองขยายตัวและแพร่พันธุ์ dilation and proliferation มีน้ำคั่งอยู่ ได้แก่ โรคบวมน้ำเหลืองทั้งหลายที่เป็นที่รู้จักกันในตำรา
อาณาจักรที่สอง คือ โรคบวมน้ำเหลืองระนาบลึก Lymphedema profunda มองภายนอกดูไม่ใช่บวมเลย แต่ผู้ป่วยอาจ เคยมีบวมเป็นครั้งคราว เช่น ตอนนั่งรถนานๆ หรือบางคนเนื้อขาอาจคล้ายอ้วนฉุๆ เมื่อทำ MRI จะ ปรากฏชัดว่า น้ำเหลืองเริ่มก่อตัวสะสมเป็นแถบในชั้นไขมันส่วนลึกแล้ว บริเวณน้ำเหลืองระนาบลึกนั้น จะตรวจได้ เป็น แนวกดเจ็บ
ผู้ป่วยประเภทที่จะได้ประโยชน์ จากการตรวจวินิจฉัย และบำบัดรักษาโรคน้ำเหลืองไม่ดี
๑. มีความบวมที่น่ารำคาญ ที่รักษาไม่หาย ไม่ว่าบวมจากมะเร็ง หรือบวมจากเหตุอื่นใด เช่น อ้วน เกาต์ เบาหวาน
๒. ผ่าตัดมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกแล้ว แม้จะยังไม่เคยบวม สักวันหนึ่งก็จะบวมจริง ควรรู้ ป้องกัน ดูแล ไว้ก่อน
๓. เคยถูกหมอกระดูกและข้อให้วินิจฉัยไว้ หรือเข้าใจเอง ว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แต่ไม่ชอบรับประทานยา ไม่ชอบผ่าตัด
๔. ปวดน่อง ปวดขา ปวดเอว ปวดข้อ แต่เบื่อกินยาแก้ปวด ยาคลายเส้น แม้นวดก็ช่วยได้ชั่วคราวเป็นช่วงๆ
๕. ปวดส้นเท้า ชาปลายเท้าปลายมือ ข้อนิ้วฝืดๆ โดยเฉพาะเช้าแรกตื่นนอน
๖. แปล๊บๆที่เข่า ขา ฝ่าเท้า ข้อเท้า ตอนลุกจากท่านั่ง ตอนลงจากรถ หรือตื่นนอนจะต้องตั้งลำสักพักจึงเริ่มเดินได้
๗. ผิวหนังผื่นคันในเด็ก หรือในผู้ใหญ่ ที่รักษากับหมอโรคผิวหนังมานักต่อนักแล้ว ก็รู้สึกไม่ตรงโรค
๘. คันเรื้อรัง สะเก็ดเงิน สิวเลยวัย ฝีรักแร้ขาหนีบก้น
๙. หลอดเลือดขอด แผลเปื่อยที่ขา แข้งดำ ขากะดำกะด่าง
๑๐. หุ่นไม่สมส่วน ช่วงล่างใหญ่ ขาโต น่องอวบ
๑๑. น้ำหนักขึ้นเร็วทั้งๆที่ควบคุมอาหาร ขึ้นแล้วไม่ยอมลงทั้งๆที่ออกกำลังกาย นั่นคืออาการของน้ำเหลืองไม่ดี
๑๒. ไมเกรน นอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพใดๆ ลองมาหลายวิธีแล้วไม่ดีขึ้น ปีแล้วปีเล่าไม่หายโดนใจ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า “ดีไม่ดี ฉันเป็นน้ำเหลือง?” เพราะโรคของระบบน้ำเหลือง เป็นสิ่งเดียวที่แพทย์แผนใหม่ ลืมคำนึงถึงมัน
ศ. ดร. นพ. วิชัย เอกทักษิณ
แพทย์เอตทัคคะ
ผู้อธิบายกลไกการแสลงโรค Slaengh mechanism โดยอาหารผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (๒๐๐๘)
ผู้ค้นพบโรคใหม่ให้ชื่อว่า บวมน้ำเหลืองระนาบลึก Lymphedema profunda深部リンパ浮腫 (๒๐๐๙)
ผู้บุกเบิกการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองในประเทศไทย ให้เป็นศูนย์ใหญ่ที่สุดแห่งเอเซีย Lymphedema Day Care Center (๒๐๑๐)
ผู้ตั้งข้อสังเกต การแสลงหมูเป็นชนวนของโรคไขมันหนังแข็ง Lipodermatosclerosis (๒๐๑๑)
ผู้ให้นิยามโรคน้ำเหลืองไม่ดี Poor lymph disorder และโรคน้ำเหลืองเสีย Bad lymph sickness (๒๐๑๒)
ผู้ชี้ความสำคัญของน้ำเหลืองจากข้อเท้า Ankle arthropathy เป็นเหตุของโรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ หลอดเลือดขอด เข่าอักเสบ (๒๐๑๓)
ผู้ก่อกำเนิดสาขาความรู้ เวชศาสตร์อาหารแสลง Slaengh Medicine (๒๐๑๔)
ภาพ ๑. ผู้ป่วยชายโรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ ข้อเท้าบวมแฝงมานานโดยที่เจ้าตัวก็ไม่เคยสังเกต จนเกิดการแสลงอาหาร ความ บวมแสดงออกชัดที่ขาขวา แข้ง น่อง ตาตุ่ม หลังเท้า นิ้วเท้า กลายเป็นบวมถาวร ลามขึ้นขาอ่อน แสลงแต่ละครั้งก็จะเกิดอักเสบ ไข้สูง หนังลอกคราบ ผิวก็จะด้าน กร้านขึ้นเรื่อยๆ น้ำเหลืองเสียทำให้สีผิวคล้ำหมอง บางคนบวมก็ลามไปขาซ้ายด้วย
ภาพ ๒. ผู้ป่วยหญิงโรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ ข้อเท้าบวมแฝงมานานโดยที่เจ้าตัวก็ไม่เคยสังเกต จนเกิดการแสลงอาหาร ความ บวมแสดงออกที่ขาข้างหนึ่งก่อน ที่แข้ง น่อง ตาตุ่ม หลังเท้า นิ้วเท้า แล้วกลายเป็นบวมถาวร ลามขึ้นขาอ่อน การแสลงอาหาร (เนื้อไข่นม ผลิตภัณฑ์สัตว์) แต่ละครั้งจะก่อความอักเสบ ไข้สูง หนังลอกคราบ ผิวก็จะด้าน กร้านขึ้นเรื่อยๆ น้ำเหลืองเสียจะทำให้ สีผิวคล้ำหมอง บางคนบวมก็ลามไปขาอีกข้างด้วย
ภาพ ๓. ผู้ป่วยหญิงโรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ (คนที่ ๑, ๒, ๓) และบวมน้ำเหลืองทุติยภูมิ (คนที่ ๔, ๕) บวมลามถึงหน้าเป้า
ภาพ ๔. ผู้ป่วยชายอ้วน โรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ สังเกตพยาธิสภาพที่ข้อเท้า ซึ่งมีบวมแฝงเป็นมานาน โดยที่เจ้าตัวก็ไม่เคย สังเกต จนกลายมาแสดงออกเป็นบวมขา ขาดำ บวมทั้งตัว
ภาพ ๕. ผู้ป่วยหญิงอ้วน โรคบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ สังเกตพยาธิสภาพที่ข้อเท้า ซึ่งมีบวมแฝงเป็นมานาน โดยที่เจ้าตัวก็ไม่เคย สังเกต จนกลายมาแสดงออกเป็นบวมขา ขาดำ บวมทั้งตัว จากข้อเท้าก็ลามไปยังข้อเข่า มีทั้งเข่ากาง (แบะออก) และเข่าโก่ง (โค้งเข้า)
ภาพ ๖. ผู้ป่วยน้ำเหลืองไม่ดี รูปแบบต่างๆ ที่บางคนมีโรคบวมน้ำเหลือง ปรากฏร่วมแล้วถาวร ทุกกรณีมีปัญหาบวมแฝงอยู่ในข้อเท้า ซึ่งบางคนสังเกตได้ เพราะความแสลงอาหาร (เนื้อไข่นม ผลิตภัณฑ์สัตว์) ทำให้พยาธิสภาพแสดงออกที่ข้อเท้าชัดเจน เช่น ผื่นคัน คันทั้งขา ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ ข้อเท้าทรุด นิ้วเท้าเก เป็นต้น
ภาพ ๗. ผู้ป่วยน้ำเหลืองไม่ดี ที่ปัญหาบวมในข้อเท้าแสดงออกอย่างชัดเจน เกิดการแสลงอาหารซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นแผลเปื่อย อาหารที่แสลงที่สุดคือ เนื้อหมู (เนื้อวัว สัตว์สี่เท้าอื่น) ซุปต้มกระดูกหมู น้ำก๋วยเตี๋ยว
ภาพ ๘. ผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองแต่กำเนิด (อายุ ๑๘ ปี สุพรรณบุรี) ภาพแรกป่วยขาบวมโตมา ๑๘ ปี ภาพสองเมื่อบำบัดได้ ๕ วัน ภาพสามกลับบ้านไปดูแลต่อ ๑ เดือน และภาพสี่หลังจาก ๑ ปี ขาที่เคยบวมก็ยุบลดเรียวลง
ภาพ ๙. ผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองทุติยภูมิ จากการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก (อายุ ๕๔ ปี กรุงเทพฯ) ภาพแรกขาซ้ายบวมก่อนเริ่ม บำบัด ภาพสองเมื่อบำบัดได้ ๕ วัน ภาพสามกลับบ้านไปดูแลต่อ ๑ เดือน และภาพสี่หลังจากหนึ่งปีครึ่ง ขาที่เคยบวม ก็ยุบเรียว ลดลงตามลำดับ
ภาพ ๑๐. ผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองทุติยภูมิ จากการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก (อายุ ๔๙ ปี กรุงเทพฯ) ภาพแรกขาขวาบวมมานาน ๗ ปีก่อนเริ่มบำบัด ภาพสองเมื่อบำบัด ๕ วันแล้วกลับบ้านผ่านไป ๔ เดือน ภาพสาม ๑ ปี ๘ เดือน และภาพสี่หลังจากผ่านมา ๓ ปีครึ่ง ขาที่เคยบวมก็ยุบเรียว ลดลงตามลำดับ สีผิวคืนสภาพเกือบสนิท